องค์การบริหารส่วนตำบลบรบือ

Borabue Subdistrict Administrative Organization

ประวัติความเป็นมา


ออนไลน์ : 9

หัวข้อ :: ประวัติความเป็นมา

ประวัติตำบลบรบือ

ตำนาน บรบือ 
            ชื่อของอำเภอบรบือ  มีลักษณะแปลกกว่าอำเภออื่นใดเพราะเป็นลักษณะเฉพาะไม่มีคำแปลหรือความหมายในพจนานุกรมฉบับใดทั้งสิ้น อันความเป็นมาของชื่อนี้จากผู้เฒ่าผู้แก่ และตามตำนานโบราณกล่าวไว้ว่า ในสมัยก่อนมีควายประหลาดตัวหนึ่ง เป็นความตัวผู้มีรูปร่างสูงใหญ่โตกว่าควายทั้งปวง มีนิสัยดุร้ายเที่ยวไล่ขวิดวัวควายและผู้คนทั่วไป ได้มาอาศัยอยู่บริเวณหนองบ่อและทำการขวิดดินจนกระทั่งเป็นโนนหนองบ่อในปัจจุบัน ชาวบ้านทราบก็ได้ทำการตามเพื่อไล่จับ บ้างก็มีหอก  ดาบ แหลน หลาว เมื่อมาถึงบริเวณหนองบ่อไม่พบควายเปลี่ยวตัวดังกล่าวแต่อย่างใด จึงได้สอบถามชาวบ้านว่าควายหนีไปทางได๋ (ไปทางไหน) ชาวบ้านบอกว่าไปบ้านกำพี้(กำ คือด้านหรือทิศทาง,พี้ คือ นี้หรือทิศนี้) ตามที่ชาวบ้านชี้บอกมาก็คือ(บ้านกำพี้ ตำบลกำพี้ในปัจจุบัน) ชาวบ้านที่ตามควายมาทันที่บ้านหนองตุ จึงทำการยิงควายเปลี่ยวตัวนั้นแต่ก็ไม่สามารถยับยั้งควายตัวนั้นได้ คำว่า “ตุ”ลักษณะของการกระทบเบา ๆ ผลปรากฏว่าการติดตามควายเปลี่ยวโดยใช้ปืนยิงทำให้ดินปืนหมด จึงทำการบดมาด(มาด คือ กำมะถัน)ที่บ้านหนองบัว บ้านนั้นก็เลยเรียกว่าบ้านบัวบดมาด หรือบ้านบัวมาศในปัจจุบัน และบางพวกก็เลยไปหาน้ำที่ลำห้วยยาง และตัดไม้มาทำหลาวแหลนและหอก ห้วยนี้จึงไดชื่อว่าห้วยคันหอก(คัน คือ ด้าม)และได้พากันติดตามควายเปลี่ยวไปทันกันที่บ้านโนนทันที่บ้านโนนทันในปัจจุบัน ห้วยและหมู่บ้านดังกล่าวอยู่ในเขตปกครองตำบลบัวมาศ ควายร้ายตัวนี้ยังคงหนีได้ต่อไปอีกชาวบ้านได้ติดตามต่อไปอีกและได้มาพบควายตัวนี้ที่บริเวณหนองบ่อซึ่งควายกำลังขวิดดินอยู่ไม่ได้ระวังตัวชาวบ้านจึงได้ใช้ปืนยิงถูกที่สายบือควายเปลี่ยวตัวนี้จึงได้วิ่งหนีชาวบ้านต่อไปอีกทั้งที่บาดเจ็บที่สะดือจนกระทั่งชาวบ้านตามไปพบควายซึ่งได้รับบาดเจ็บนอนอยู่ในป่า จึงช่วยกันล่ามไว้ในโคกทางด้านทิศเหนือของอำเภอบรบือ หลังจากที่ชาวบ้านจับควายเปลี่ยวตัวดังกล่าวได้แล้วและก็ล่ามไว้ ชาวบ้านก็นอนหลับพักผ่อนหลับนอนเนื่องจากความเมื่อยล้า ทุกคนจึงหลับไป ตื่นแต่เช้าขึ้นมาก็ไม่พบควายเปลี่ยวที่ล่ามไว้หายไปไหน จึงได้พากันติดตามอีกจนพบว่าควายเปลี่ยวตัวนั้นได้หลบหนีมาทิศเหนือและได้พบควายนอนตายที่บริเวณบึ่งแห่งหนึ่ง ทำให้บึงแห่งนั้นเกิดกลิ่นเหม็น “กุย”(กุย หมายความว่า กลิ่นคาวเลือด) จึงได้ชื่อว่า”บึงกุย”(ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของอำเภอโกสุมพิสัย ชื่อว่า บึงกุย) โดยสรุปแล้วชื่ออำเภอบรบือ มีที่มาจากตำนาน 3 ประการ
1. สายบือ (สะดือ) ชาวบ้านยิงควายถูกสายบือหลุดที่หนองบ่อ จึงเรียกว่า “บ่อสายบือ”
2. กระบือ(ควาย) ควายได้ขวิดดินโนนหนองบ่อ จึงเรียกว่า “บ่อระบือ”
3.ระบือ(เลื่องลือ) ในบริเวณหนองบ่อนี้ได้พากันขูดเอาดินเค็มมาทำการกรอง กลายเป็นน้ำเค็ม และทำการต้มเป็นเกลือสินเธาว์ที่ขึ้นชื่อลือชา โดยชาวบ้านใกล้เคียงและชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลจะนำสิ่งของมาแลกเปลี่ยนเกลือไปบริโภค จนมีชื่อระบือไกล จึงเรียกว่า “บ่อระบือ”

2.ประวัติความเป็นมาของอำเภอบรบือ 
            อำเภอบรบือ ตั้งขึ้นในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน ปี พ.ศ.2443 เนื่องจกพระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะปกครองหัวเมืองในภาคอีสานให้มีความสงบสุข จึงทรงปฏิรูปการปกครองโดยแบ่งหัวเมืองในภาคอีสานออกเป็น 4 หัวเมืองใหญ่ ๆ คือ หัวเมืองลาวตะวันออก หัวเมืองลาวตะวันออกแยงเหนือ หัวเมืองลาวกลาง และหัวเมืองลาวเหนือ แต่ละหัวเมืองมีข้าหลวงกำกับการปกครอง โดยก่อนหน้านี้ (พ.ศ.2440) พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติการปกครองท้องที่ โดยแบ่งหัวเมืองต่าง ๆ ของภาคอีสาน ออกเป็น 5 มณฑล คือมณฑลอุบลราชธานี มณฑลจำปาศักดิ์ มณฑลขุขันธ์ มณฑลกมลาไสย มณฑลสุรินทร์และมณฑลร้อยเอ็ด โดยเฉพาะมณฑลร้อยเอ็ดแบ่งออกเป็น 5 หัวเมือง คือ เมืองร้อยเอ็ด เมืองกาฬสินธ์ เมืองสุวรรณภูมิ และเมืองมหาสารคาม และอำเภอประจิมสารคาม กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงใหญ่ ประจำมณฑลอุบลราชธานี ได้แต่งตั้งซาบุดดี เป็นหลวงสารคามกิจนิคมภิบาลเป็นอำเภออุทัยสารคาม และแต่งตั้งนาย โลม เปาริสาน เป็นหลวงสารคามนิคมเป็นนายอำเภอประจิมสารคาม ถือว่าเป็นนายอำเภอคนแรกของท้องถิ่น
              ในปี พ.ศ.2453 พระพิทักษ์รากร หรือพระเจริญราชเดช ( อุ่น ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม) ข้าหลวงกำกับเมืองมหาสารคาม ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชกรเมือง มหาสารคามสมัยนั้น ได้พิจารณาเห็นว่าบ้านเมืองได้เจริญก้าวหน้า มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่นควรมีการขยายเมืองและอำเภอออกไปอีก จึงได้ทำหนังสือกรมทูลกรมดำรงราชานุภาพ (สมเด็จพระเจ้าวรวงค์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยขอย้ายอำเภอประจิมสารคาม จากเมืองมหาสารคาม มาตั้งที่บ้านค้อ(ปัจจุบันอู่ทิศตะวันออกอำเภอบรบือ ) แล้วเปลี่ยนนามใหม่ว่าท่าขอนยาง โดยเอานามเมืองท่าขอนยางที่ถูกยุบลงให้เป็นตำบล มาตั้งชื่อแทน ต่อมาในปี พ.ศ.2457 หม่อมเจ้านพมาศ นวรัตน์ ซึ่งดำรงตำแหน่ง เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ในขณะนั้น ได้เสด็จมาตรวจราชการที่อำเภอท่าขอนยางได้พบเห็นสภาพของท้องถิ่นอำเภอนี้เห็นว่ามีบ่อน้ำอุดมสมบูรณ์ไปด้วยข้าวปลาอาหาร มีบ่อเกลือที่ชาวบ้านในท้องถิ่นนี้ ถือเป็นสินค้าที่นำไปแลกเปลี่ยนสิ่งของกับท้องถิ่นห่างไกลดังนั้นหม่อมเจ้านพมาศนวรัตน์จึงประทานชื่อใหม่ว่า“บ่อระบือ”อำเภอท่าขอนยาง จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบรบือ มาตราบเท่าทุกวันนี้
               ปี พ.ศ.2560 พระสารคามคณาภิบาล ( พร้อม ณ นคร) ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม มาตรวจราชการที่อำเภอบรบือ เห็นว่าที่ตั้งที่ว่าการอำเภอห่างไกลจากเส้นคมนาคม โดยเฉพาะ เส้นทางหลวงขณะนั้นกำลังก่อสร้างพอดี พระสารคามคณาภิบาล จึงได้ทำหนังสือกราบทูลเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ให้มีการปรับปรุงที่ตั้งอำเภอใหม่ ดังนั้นจึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้ง ณ ที่ว่าการอำเภอปัจจุบัน
  
3.องค์การบริหารส่วนตำบลบรบือ 
            เมื่อประมาณปี พ.ศ.2457 หม่อมเจ้านพมาศ นวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ได้ไปตรวจราชการในพื้นที่ที่ตั้งตำบลบรบือในปัจจุบัน ซึ่งมีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรธรรมชาติ คือ    บ่อเกลือสินเธาว์ จึงประทานนามว่า "บ่อระบือ" ซึ่งต่อมาได้เรียกขานกันว่า บรบือ และองค์การบริหารส่วนตำบลบรบือ ยกฐานะ จากสภาตำบลบรบือ ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การ-บริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537  จัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลชั้น 3  เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 และได้รับการเลื่อนชั้น เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลชั้น 2 (อบต.ขนาดกลาง) เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2550
 

 

วันที่ : 29 พฤศจิกายน 2563   View : 12435